Siam Home Pro のブログ หลอดไฟ LED

ข่าวสาร เทคโนโลยี ธุรกิจ ช่าง

หลอดไฟ LED คืออะไร

ปัจจุบันนี้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าด้วยเทคโนโลยีที่มีความทันสมัยถูกผลิตให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลทำให้เราเข้าถึงนวัตกรรม รวมถึงอุปกรณ์ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ในชีวิตประจำวันอยู่เสมอ เช่นเดียวกันกับการเลือกหลอดไฟสำหรับไว้ใช้งานภายในบ้าน หรือภายในสำนักงาน ตลอดจนสถานที่ต่างๆ ทุกวันนี้ “หลอดไฟ LED” ถือเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่น่าสนใจ วันนี้เราจึงจะมากล่าวถึง หลอดไฟ LED ให้ทุกคนได้ทำความรู้จักไปพร้อมกัน

หลอดไฟ LED คืออะไร

นิยามของหลอดไฟ LED คนทั่วไปอาจดูจักเพียงว่าเป็นประเภทหนึ่งของหลอดไฟ แต่หากอธิบายให้เข้าใจตามหลักการ สำหรับ LED นั้น ย่อมาจาก Light Emitting Diode หรือก็คือไดโอดชนิดเปล่งแสง ที่สามารถนำไปใช้งานผ่านการติดตั้งบนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ได้


ส่วนของหลอดไฟ LED เป็นสารกึ่งตัวนำไฟฟ้า (Semicnductor) ซึ่งยอมให้กระแสไฟเดินทางผ่าน แล้วจึงจะสามารถปล่อยแสงออกมาส่องสว่างได้ โดยหลักการจะต้องวางติดกัน 2 ชนิด คือ ขั้นบวกและขั้วลบ โดยที่ส่วนเชื่อมต่อสารกึ่งตัวนำของขั้วทั้งสองจะถูกเรียกว่า P-N Junction เมื่อกระแสไฟถูกปล่อยผ่านสารกึ่งตัวนำ อิเล็กตรอนอิสระขั้วลบจะไหลไปยังขั้วบวก แล้วจึงเกิดแสงสว่างออกมาให้เราได้ใช้งานกัน โดยอาศัยเพียงการจ่ายแรงดันไฟฟ้าแค่เล็กน้อย ก็สามารถสร้างประสิทธิภาพแสงที่ดีกว่าหลอดไฟขนาดเล็กประเภทอื่น นอกจากนี้หลอดไฟ LED ยังมีความสามารถในการให้แสงได้หลายความยาวคลื่น จึงให้ทั้งแสงสีขาว เขียว น้ำเงิน แดง และสีอื่นๆ ได้ 


ทั้งนี้หลอดไฟ LED แสงสีฟ้า ถือได้ว่าเป็นสีที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในปัจจุบัน เพราะเมื่อนำหลอดไฟ LED แสงสีฟ้ามาเข้าสู่กระบวนการเคลือบด้วยสารฟอสเฟอร์สีเหลือง ก็จะทำให้ได้มาซึ่งแสงสีขาวที่มีประสิทธิภาพสูงนั่นเอง

ประเภทของหลอดไฟ LED ปัจจุบัน แบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่

  • หลอดไฟ LED ซึ่งทำหน้าที่ให้ความสว่าง illuminator - type
  • หลอดไฟ LED ซึ่งใช้แสดงสถานะ indicator - type

อย่างไรก็ตามหลอดไฟ LED ทั้ง 2 ประเภท ยังคงมีโครงสร้างที่เหมือนกัน คือ มีแหล่งกำเนิดแสง (LED Ship) มีสายเชื่อมวงจรภายใน (Gold wire) มีตัว Body หรือ Ceramic Substrate และจะต้องมีแผ่นระบายความร้อน (Thermal Heat Sink) ตลอดจนมีตัวควบคุมทิศทางของแสง (Plastic lens)


ทั่วไปเรามักพบเจอหลอดไฟ LED ที่ใช้งานอยู่เป็นประจำในชีวิตประจำวัน ยกตัวอย่าง เช่น หลอดไฟบนรถยนต์ ไฟฉาย ป้ายไฟ ไฟบนสมาร์ทโฟน ตลอดจนไฟบนจอทีวี คอมพิวเตอร์โน๊ตบุ้กต่างๆ ล้วนแล้วแต่เป็นอุปกรณ์ที่นำเอาหลักการหลอดไฟ LED มาพัฒนาใช้


ทั้งนี้วิธีการเลือกซื้อหลอดไฟ LED ให้พิจารณาตรวจสอบเช็คดูจำนวน Watt วัตต์ หรือกำลังไฟ ทั้งนี้เพราะรุ่นของหลอดไฟแต่ละรุ่น ย่อมีกำลังวัตต์แตกต่างกัน พลังงานไฟย่อมไม่เท่ากัน หากถามว่าทำไมต้องพิจารณาเรื่องจำนวนวัตต์ เป็นเพราะหากจำนวนวัตต์เยอะเท่าใด ก็จะส่งผลต่อัตราการกินไฟที่เพิ่มมากขึ้นนั่นเอง


ข้อดี - ข้อเสียของหลอดไฟ LED

มาเริ่มกันที่ข้อดีของหลอดไฟ LED จะประกอบด้วย


  • เรื่องของอายุการใช้งานมีความทนทานนานกว่า 10 - 20 ปี หรือประมาณห้าหมื่นชั่วโมง
  • ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาในการซื้อหลอดไฟมาเปลี่ยนใหม่บ่อยๆ
  • เพราะบางพื้นที่ก็ยากต่อการปรับเปลี่ยนหลอดไฟ
  • เนื่องจากภายในหลอดไฟ LED ไม่มีไส้หลอดที่ขาดง่าย จึงทำให้มีความทนทาน
  • ไม่มีกระจกเข้ามาเป็นส่วนประกอบ ทำให้ทนทาน ไม่แตกหักง่าย
  • ไดโอดเปล่งแสง ด้วยลักษณะที่มีขนาดเล็ก
  • จึงสามารถนำไปปรับเปลี่ยนรูปร่างใช้งานได้ตามต้องการ
  • การติดตั้งไม่ต้องใช้บัสลาสต์กับสตาร์ทเตอร์ หากใช้งานภายในบ้าน
  • สามารถต่อไฟได้โดยตรง ทำให้ไม่เกิดการกระพริบ ไฟติดได้ทันที
  • ค่าความสว่างชนิดฟลูออเรสเซนต์ แต่ไม่ร้อน สามารถสัมผัสตัวหลอดไฟได้
  • และยังช่วยลดภาระเรื่องของแอร์ทำงานหนัก
  • ทำให้อัตรากินไฟค่อนข้างต่ำ ประหยัดได้มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์
  • สามารถกดเปิด - ปิดได้บ่อย โดยยังคงเซฟค่าไฟเอาไว้ได้
  • ไม่มีก๊าซร้ายแรงที่จะส่งผลทำให้เกิดปฏิกิริยาอันตรายทางไฟฟ้าได้
  • ไม่มีสารปรอท จึงถือได้ว่าหลอดไฟ LED เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ข้อเสียหลอดไฟ LED มีข้อเสีย ดังนี้

- อาจจะยังไม่ได้รับความนิยมในประเทศไทยบ้านเรา ทั้งนี้เป็นเพราะราคาค่อนข้างแพงมากกว่าหลอดไฟประเภทอื่น เช่น หลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ หลอดไฟทังสเตน


- ส่วนใหญ่ของหลอดไฟ LED ไม่สามารถปรับใช้กับ Dimmer Switch หรือสวิตซ์หรี่แสงได้


เปรียบเทียบแบบนี้แล้วหลายคนคงเห็นข้อดีข้อเสียของหลอดไฟ LED ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เชื่อว่าทุกคน
ที่ได้อ่านจะได้ประโยชน์จากบทความนี้ไม่มากก็น้อย